Home Food Delivery Momentum Works เผยการใช้จ่ายของบริการฟู้ดเดลิเวอรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าสูงถึง 1.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอัตราการเติบโตของตลาดได้รับแรงหนุนจากประเทศขนาดเล็ก

[ข่าวประชาสัมพันธ์] Momentum Works เผยการใช้จ่ายของบริการฟู้ดเดลิเวอรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าสูงถึง 1.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอัตราการเติบโตของตลาดได้รับแรงหนุนจากประเทศขนาดเล็ก

321
  • ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและเวียดนาม คือประเทศที่มีอัตราการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีสูงที่สุดในปี 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบสามปี
  • Grab  มีสัดส่วนถึง 54% ของมูลค่าธุรกรรมรวม (GMV) ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรีของทั้งภูมิภาค รองลงมาคือ Foodpanda 19% และ Gojek 12%
  • การควบรวมกิจการและการถอนตัวออกจากตลาดอาจเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เนื่องจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารจำเป็นต้องควบคุมต้นทุนและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อเร่งทำกำไร

 

สิงคโปร์ (17 มกราคม 2566) บริษัท Momentum Works เปิดเผยรายงานประจำปี “แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Food Delivery Platforms in Southeast Asia) ฉบับที่ 3 ซึ่งนำเสนอข้อมูลและบทวิเคราะห์เชิงลึกของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีจาก 6 ตลาดหลักในภูมิภาค 

รายงานดังกล่าวเปิดเผยว่า ภายหลังการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในช่วงสองปีแรกของสถานการณ์โควิด ล่าสุดในปี 2565 ที่ผ่านมาตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีการเติบโตอยู่ที่ 5% โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นราว 1.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้  นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่การเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในภูมิภาคได้แรงหนุนมาจากประเทศขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ (+ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มาเลเซีย (+ 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเวียดนาม (+ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขณะที่ตลาดใหญ่อย่างสิงคโปร์ (- 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ) ไทย (- 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และอินโดนีเซีย (- 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กลับมมูลค่า GMV ลดลงอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง

ด้วยแรงกดดันทางธุรกิจให้ต้องเดินหน้าเพื่อทำกำไร ผู้เล่นในตลาดฟู้ดเดลิเวอรีทั้งรายเดิมและรายใหม่จำเป็นต้องตัดงบในการอุดหนุนผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และหันมาแข่งขันกันที่คุณภาพของบริการ จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2565  เป็นที่คาดการณ์ว่า GMV ในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีของ Grab จะมีสัดส่วนสูงถึง 54% ของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีรวมทั่วทั้งภูมิภาคหรือมีมูลค่า 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนหน้า ตามมาด้วย Foodpanda ซึ่งมีสัดส่วนราว 19% หรือมีมูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 9% จากปี 2564 ขณะที่ Gojek และ Shopee ยังคงทรงตัว โดยมีมูลค่า GMV อยู่ที่

 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ 

Jianggan Li ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Momentum Works กล่าวว่า “สภาวะการแข่งขันของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีในปี 2565 ถือได้ว่าอ่อนตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า   โดยผู้ให้บริการหน้าใหม่อย่าง Shopee และ AirAsia เริ่มหันกลับไปให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักมากขึ้นขณะที่ผู้เล่นหลักกลับมุ่งเน้นการใช้กลยุทธ์การขยายธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลักดันให้ธุรกิจต้องเติบโตและมีผลกำไรกลายเป็นเป้าหมายหลัก ผู้เล่นในตลาดจึงจำเป็นต้องทดลองใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความหลากหลายเพื่อสร้างผลกำไรและเพิ่มความภักดีของผู้บริโภค ผ่านธุรกิจโฆษณา แพคเกจสมาชิก และอื่นๆ โดยเราเชื่อว่าธุรกิจนี้จะสามารถทำกำไรได้โดยต้องอาศัยปัจจัยสำคัญคือ ยอดการสั่งซื้อ จำนวนผู้ใช้บริการ (ความหนาแน่นของประชากร) รวมถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน”

 

ไฮไลท์สำคัญของอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี

รายงานดังกล่าวยังเผยถึงแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรีทั่วทั้งภูมิภาคในปีที่ผ่านมา  อันได้แก่

  1. ารถอนตัวออกจากตลาดหรือเลิกใช้โมเดลธุรกิจที่ไม่ทำกำไรของผู้เล่นหลายราย: ผู้ให้บริการรายใหญ่บางรายตัดสินใจเลิกใช้โมเดลธุรกิจที่มีต้นทุนสูง เช่น การทำ Dark Store หรือคลังสินค้าสำหรับขายของชำหรือสินค้าออนไลน์โดยเฉพาะ และ Dark Kitchen หรือครัวกลางสำหรับธุรกิจจัดส่งอาหาร ซึ่งคาดว่าเทรนด์ดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566  ส่วนผู้เล่นรายใหม่อย่าง Shopee ได้ปรับกลยุทธ์โดยจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจหลักอย่างอีคอมเมิร์ซอีกครั้ง ขณะที่ DeliveryHero หรือ Foodpanda มีข่าวลือว่าจะปิดกิจการในบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
  2. การใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม:ในปี 2565  มีผู้เล่นจำนวนไม่น้อยที่ประกาศเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ หรือแม้กระทั่งเข้าซื้อกิจการจากบบริษัทผู้ให้บริการโซลูชันด้านการจัดการธุรกิจร้านอาหารและสื่อ ณ จุดขายซึ่งคาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเป็นประโยชน์ในการรักษาฐานหรือจำนวนร้านค้าไว้ได้ ทั้งยังช่วยให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีสามารถนำเสนอบริการที่แตกต่างให้กับร้านอาหารโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วโดยผู้เล่นหลักของประเทศจีนอย่าง Meituan
  3. การเพิ่มรายได้จากธุรกิจโฆษณาและแพคเกจสมาชิก: ผู้ให้บริการรายใหญ่เริ่มพัฒนาบริการโฆษณาผ่านแอปพลิเคชันเพื่อหารายได้จากร้านอาหาร หลายบริษัทยังได้ทดลองใช้แพคเกจสมาชิกรายเดือนเพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาฐานลูกค้าและกระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อด้วยยอดที่สูงขึ้น โดยผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้าและพันธมิตรร้านค้าเป็นจำนวนมากย่อมมีความได้เปรียบกว่าผู้เล่นรายอื่นๆ 
  4. การวางกลยุทธ์ของผู้ประกอบการร้านอาหารสำหรับช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ที่มีความชัดเจนและแตกต่าง: แม้ว่าผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตและรับประทานอาหารนอกบ้านกันแล้ว แต่ฟู้ดเดลิเวอรีก็ยังคงถือเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยสร้างยอดขายให้กับร้านอาหารได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารจึงจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ สินค้าและโปรโมชันสำหรับการขายผ่านหน้าร้านและเดลิเวอรีให้มีความแตกต่างเพื่อลดความเสี่ยงจากการแย่งลูกค้ากันเอง และทำให้ทั้งสองช่องทางมียอดขายให้มากที่สุด เช่นเดียวกันกับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีที่เริ่มมีการพัฒนาธุรกิจและขยายบริการให้มีความเชื่อมโยงกับโลกออฟไลน์มากขึ้น ผ่านการนำเสนอฟีเจอร์พิเศษอย่างการให้ส่วนลดหรือคูปองเพื่อรับประทานอาหารในร้าน หรือการรีวิวร้านอาหาร เป็นต้น

 

###

 

เกี่ยวกับMomentum Works

Momentum Works เป็นบริษัทร่วมทุนในสิงคโปร์ สร้าง ขยายและจัดการบริษัทร่วมทุนด้านเทคโนโลยีในโลกเกิดใหม่

Momentum Works ยังใช้ความรู้ ชุมชนและประสบการณ์ของตนเองในการให้ข้อมูล เชื่อมต่อและสนับสนุนเทคโนโลยี / ระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่ ธุรกิจที่สำคัญได้แก่ การร่วมลงทุน ข้อมูลเชิงลึกนัก วิชาการและการให้คำปรึกษา

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ Crystal Yu(crystal.yu@mworks.asia)